คัวฮักคัวหางหมายถึง ภาชนะหรือสิ่งของต่างๆของดินแดนในแถบล้านนา ที่เคลือบด้วยน้ำยางของต้น “รัก” ที่ขึ้นในป่าทั่วไปในดินแดนแถบนี้ ในที่นี้ขอเรียกเครื่องใช้เหล่านี้ว่า “เครื่องลงรัก” เครื่องลงรักได้รับอิทธิพลมาจากจีน เนื่องจากหลักฐานที่เก่าแก่ที่ค้นพบในประเทศจีนมีมากว่า 3000 ปี เครื่องลงรักมีความนิยมใช้แพร่หลายในดินแดนเอเซียตะวันออกและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คือตั้งแต่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า ไทย เวียดนาม ลาวและเขมร การนำยางรักมาทาหรือเคลือบลงบนภาชนะต่างๆนั้น เพื่อให้วัสดุเหล่านั้นมีความคงทน ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังสามารถตกแต่งให้มีความงามวิจิตรน่าใช้งานมากยิ่งขึ้น
สันนิษฐานว่าการใช้คัวฮักคัวหางในล้านนาคงจะมีมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้เพราะล้านนาเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัสดุที่นำมาใช้ในการทำโดยเฉพาะไม้ไผ่และยางรักคนล้านนาเรียกเครื่องมือเครื่องใช้กลุ่มนี้ว่า “คัวฮัก คัวหาง” ตามรูปแบบวัสดุที่ใช้ คัวฮัก คัวหาง เกิดจากการผสมผสานของคำ 3 คำ ดังนี้ “คัว” แปลว่า “ครัว” ซึ่งในภาษาถิ่นภาคล้านนาหมายถึง วัตถุ, สิ่งของหรือเครื่องใช้ต่างๆ “ฮัก” หมายถึง ยางจากต้นรัก “หาง” หมายถึง ซินนาบาร์(Cinnabar)หรือชาด เป็นแร่ซัลไฟต์ของปรอท นำมาบด เพื่อให้ได้ผงที่มีสีแดงหรือสีชาด ส่วนมากนำเข้ามาจากเมืองจีน เมื่อนำผงสีแดงผสมกับยางรักจะให้สีแดงที่งดงาม เป็นที่นิยมอย่างมากจนถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ของเครื่องลงรักในดินแดนแถบนี้
รูปแบบของเครื่องลงรักในล้านนาคาร์ล บ๊อค กล่าวว่า คนล้านนาทำ“…หีบหมาก… จอกน้ำ ชามข้าว และเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ ด้วยเครื่องลงรักทั้งสิ้น…”จากการสำรวจพบว่า “เครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ” ที่ชาวล้านนานิยมทำด้วยเครื่องลงรัก ประกอบด้วย เอิบหรือหีบผ้าสำหรับใช้ใส่เสื้อผ้าหรือของใช้มีค่า ขันโตกสำหรับวางสำรับอาหาร ปุง ภาชนะใส่เมล็ดพืชสำหรับการเพาะปลูก มีลักษณะคล้ายกล่องข้าวเหนียว บุงหรือเปี้ยดสำหรับใส่ของหาบไปตลาด หรือบางครั้งเอาไว้ใส่ข้าวสาร โอหาบเป็นภาชนะที่มีหน้าที่เดียวกับบุง ซ้าปอมหรือซ้าป้อมเป็นของใช้ส่วนตัวที่ผู้หญิงมักเอาไว้ใส่เงินเหมือนจะเป็นกระเป๋าสตางค์ ส่วนใหญ่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม จนอาจกล่าวได้ว่าซ้าปอมเป็นเครื่องลงรักชิ้นที่สวยงามที่สุดที่ใช้ถือออกสังคมได้
และขออธิบายคำว่า “เครื่องเขิน” มีที่มาจากชื่อของแหล่งผลิตและช่างผู้ผลิตนั้นเนื่องมาจาก กลุ่มไทยเขิน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านวัวลายและบ้านนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตระกูลไทลื้ออาศัยอยู่ในเขตเมืองเชียงตุงอยู่บริเวณลุ่มน้ำเขิน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกลุ่มไทลื้อลุ่มน้ำเขินว่า ชาวไทเขิน มีหลักฐานว่าคนกลุ่มนี้โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ ในกลุ่มชาวไทเขินที่อพยพมาอยู่เมืองเชียงใหม่ล้วนเป็นช่างฝีมือทั้งสิ้น มีความชำนาญในการทำเครื่องโลหะ งานทอผ้า งานกระดาษ งานจักสาน และเครื่องลงรัก วิธีการทำเครื่องลงรักในกลุ่มนี้นิยมใช้เทคนิคฮายลายหรือลายขุด ในช่วงหลังรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ในกลุ่มนี้นิยมทำเครื่องลงรักรูปแบบลายขุด ออกจำหน่ายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอย่างมาก เราจึงเรียกเครื่องลงรักทุกรูปแบบว่า “เครื่องเขิน” ตามชื่อกลุ่มชนผู้ผลิตนั้นเอง