ล้านนาเป็นดินแดนที่พบความหลากหลายของผ้าทอพื้นเมือง เนื่องด้วยกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์อยู่อาศัยในดินแดนนี้ การทอผ้าจึงเป็นวิถีชีวิตของหญิงชาวล้านนาโดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นตีนจก เพราะผ้าซิ่นตีนจกเป็นผ้าซิ่นแบบพิเศษที่ใช้กันอย่างทั่วไปของหญิงชาวไท-ยวน ในล้านนาหรือในบริเวณทางตอนเหนือของประเทศไทย
ผ้าซิ่นตีนจกนอกจากจะเป็นผ้าซิ่นแบบพิเศษที่ใช้กันอย่างทั่วไปของหญิงชาวไทย-ยวนในล้านนาหรือทางภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่โดยเฉพาะหญิงที่มีฐานะสูงศักดิ์มักนิยมผ้าซิ่นตีนจกที่มีการสอดแทรกเส้นโลหะที่มีค่าเช่น เส้นทองคำหรือเงิน, แล่ง หรือกระดาษทองพันกับฝ้าย หรือเส้นดิ้นทองหรือดิ้นเงินใส่ลงไปในบริเวณลวดลายที่อยู่บริเวณตีนซิ่น จึงทำให้ผ้าซิ่นตีนจกผืนนั้นดูมีคุณค่าและความพิเศษ รวมถึงราคาที่แตกต่างจากผ้าซิ่นตีนจกทั่วๆไปที่เหมาะแก่หญิงที่มีฐานะสูง ซึ่งผ้าซิ่นตีนจกคำส่วนมากมักจะใช้เฉพาะเจ้านายหญิงหรือหญิงที่มีฐานะสูงศักดิ์ที่ส่วนมากมักจะมีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณในตัวเวียงเชียงใหม่และใกล้เคียง มีการพบหลักฐานในภาพถ่ายโบราณว่าเจ้านายลำพูน เจ้านายลำปาง เจ้านายแพร่ ก็ล้วนสวมใส่ผ้าซิ่นตีนจกที่มีลักษณะประเภทดังที่กล่าวมาทั้งสิ้น
นอกจากนี้ผ้าซิ่นตีนจกในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงยังมีลวดลายแบบพิเศษ มีความแตกต่างเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งลวดลายและสีสันในแต่ละกลุ่มย่อย อีกทั้งในแต่ละกลุ่มย่อยนั้นๆยังมีวิวัฒนาการในการสร้างสรรค์ลวดลายให้ดูแปลกแตกต่างในกลุ่มเดียวกัน การรังสรรค์ลวดลายที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ เกิดจากผู้ทอเป็นหลักที่ทำให้ตีนจกผืนนั้นมีลวดลายเฉพาะเพียงผืนเดียว หามีผืนอื่นๆที่จะมีรูปแบบลวดลายที่คล้ายคลึงกันได้ ตัวอย่างลวดลายที่พบเป็นส่วนมากเช่น การทอลวดลายกลับหัวลง เช่นลายหงส์ที่กลับหัวลงซึ่งเป็นลวดลายของสัตว์ชนิดเดียวที่ปรากฏบนตีนจก หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลวดลายหลักเช่น สี่เหลี่ยมเพชรให้กลายเป็นลวดลายสี่เหลี่ยมย่อยหรือทำให้เล็กลง
นิทรรศการ “ผ้าซิ่นตีนจกในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง”
งานสะสมของ รศ.กันต์ พูนพิพัฒน์
จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
เปิดบริการให้เข้าชมวันอังคาร – วันอาทิตย์
เวลา 08.30 – 17.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ปิดทำการวันจันทร์