ประวัติศาสตร์ ‘เมือง’ ผ่านสถาปัตยกรรม ‘ตึกแถว’ ในเชียงใหม่

สถาปัตยกรรมตึกแถวในย่านพื้นที่เขตอนุรักษ์เมืองเก่าเชียงใหม่ไม่ใช่เพราะรูปแบบที่สวยงามแปลกตา แต่อาคารตึกแถวเหล่านี้ยังเป็นหลักฐานที่สามารถทำให้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ มิติของสังคม การเมือง และวัฒนธรรมนั้น สามารถศึกษาผ่านร่องรอยของการใช้พื้นที่ในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจากยุคเริ่มต้นเมื่อครั้งการค้าขายของเมืองเชียงใหม่ยังอยู่ในมือของพ่อค้าพม่าและไทใหญ่ ต่อมาเมื่อครั้งข้าราชการสยามเข้ามามีบทบาทกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่งผลให้กลุ่มชาวจีนค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทและอำนาจการดูแลเศรษฐกิจเชียงใหม่แทนพ่อค้ากลุ่มเดิม

ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมตึกแถว พอจะสามารถแบ่งตามยุคออกได้ดังนี้
• ยุคแรก ช่วงก่อน พ.ศ. 2440 เช่น อาคารพาณิชย์ที่หยิบยืมเอารูปแบบสถาปัตยกรรมจีน ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก เช่น ร้านเดอะแกลอรี่ บริเวณวัดเกตการาม หรือก่อนชาวจีนจะย้ายข้ามไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง

• ยุคที่สอง ช่วงพ.ศ. 2440 – 2470 ยุคที่มิชชันนารีเข้ามามีบทบาทมากในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้นำเอาวิธีการก่อสร้างและรูปแบบการใช้พื้นที่ระเบียงขนาดใหญ่หน้าบ้าน (Porch) เข้ามาด้วย เช่น อาคารศรีประเสริฐที่ปรากฏบริเวณหัวมุมถนนวิชยานนท์ (ปัจจุบันคืออาคารสำนักงานของธนาคาร UOB) ช่วงปลายของยุคที่สองนี้มีปัจจัยสำคัญคือ การเข้ามาของรถไฟใน พ.ศ. 2464 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในยุคต่อมา

• ยุคที่สาม ช่วงพ.ศ. 2470 – 2500 เป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบและเทคนิควิธีการก่อสร้าง ดังเช่นอาคารที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กต่าง ๆ การขนส่งวัสดุก่อสร้าง เหล็กเส้นต่าง ๆ เพื่อการก่อสร้างสามารถนำขึ้นมาโดยรถไฟเนื่องจากการคมนาคมขนส่งที่สะดวกมากขึ้น อาคารพาณิชย์ดังกล่าว เช่น ตึกขาว (พ.ศ. 2475) และอาคารอีกหลายหลังบนถนนท่าแพที่มีช่วงเสากว้างขึ้นและสูงขึ้น 

• ยุคที่สี่ ช่วงพ.ศ. 2500 – 2520 เป็นยุคที่เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก รัฐบาลเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เกิดการตัดถนนเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์อย่างหนึ่งคือการเกิดขึ้นของตึกแถวที่ขยายตัวคู่ไปกับการตัดถนน และรูปแบบตึกแถวบนถนนที่สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือช่างที่ประณีตบรรจง และต้องการสร้างให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากตึกแถวที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่นอาคารพาณิชย์ที่ใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าหลังแผงกันแดดเป็นระเบียงเพื่อใช้สอย เช่นตากผ้า ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งพบเห็นได้มากในตึกแถวริมถนนเจริญเมือง หรือการใช้แผงกันแดดเป็นส่วนประดับตกแต่งรูปด้านอาคาร เช่น การใช้การหล่อคอนกรีตขึ้นรูปโค้ง เช่น อาคารของร้านเชียงใหม่ธาราภัณฑ์ บนถนนเจริญราษฎร์ หรือการใช้วัสดุประกอบอาคารอื่นๆ เช่นเหล็กดัดหรือผนังคอนกรีตสำเร็จรูป

อ้างอิง:
สันต์ สุวัจฉราภินันท์. (2559). ย้อนอ่านสถาปัตยกรรมตึกแถวในถนนท่าแพ : เส้นทางของความทันสมัยเมืองเชียงใหม่. หน้าจั่ว, (ฉบับที่ 13)