08.30 น. - 16.30 น.
เปิดพุธ-วันอาทิตย์ (ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
ปิดทำการวันจันทร์-อังคาร

Author Archives: Fan Fan

  1. คัวฮักคัวหาง

    Leave a Comment

    คัวฮักคัวหางหมายถึง ภาชนะหรือสิ่งของต่างๆของดินแดนในแถบล้านนา ที่เคลือบด้วยน้ำยางของต้น “รัก” ที่ขึ้นในป่าทั่วไปในดินแดนแถบนี้ ในที่นี้ขอเรียกเครื่องใช้เหล่านี้ว่า “เครื่องลงรัก” เครื่องลงรักได้รับอิทธิพลมาจากจีน เนื่องจากหลักฐานที่เก่าแก่ที่ค้นพบในประเทศจีนมีมากว่า 3000 ปี เครื่องลงรักมีความนิยมใช้แพร่หลายในดินแดนเอเซียตะวันออกและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คือตั้งแต่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า ไทย เวียดนาม ลาวและเขมร การนำยางรักมาทาหรือเคลือบลงบนภาชนะต่างๆนั้น เพื่อให้วัสดุเหล่านั้นมีความคงทน ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังสามารถตกแต่งให้มีความงามวิจิตรน่าใช้งานมากยิ่งขึ้น 

         สันนิษฐานว่าการใช้คัวฮักคัวหางในล้านนาคงจะมีมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้เพราะล้านนาเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัสดุที่นำมาใช้ในการทำโดยเฉพาะไม้ไผ่และยางรักคนล้านนาเรียกเครื่องมือเครื่องใช้กลุ่มนี้ว่า “คัวฮัก คัวหาง” ตามรูปแบบวัสดุที่ใช้ คัวฮัก คัวหาง เกิดจากการผสมผสานของคำ 3 คำ ดังนี้ “คัว” แปลว่า “ครัว” ซึ่งในภาษาถิ่นภาคล้านนาหมายถึง วัตถุ, สิ่งของหรือเครื่องใช้ต่างๆ  “ฮัก” หมายถึง ยางจากต้นรัก “หาง” หมายถึง ซินนาบาร์(Cinnabar)หรือชาด เป็นแร่ซัลไฟต์ของปรอท นำมาบด เพื่อให้ได้ผงที่มีสีแดงหรือสีชาด ส่วนมากนำเข้ามาจากเมืองจีน เมื่อนำผงสีแดงผสมกับยางรักจะให้สีแดงที่งดงาม เป็นที่นิยมอย่างมากจนถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ของเครื่องลงรักในดินแดนแถบนี้

        รูปแบบของเครื่องลงรักในล้านนาคาร์ล บ๊อค กล่าวว่า คนล้านนาทำ“…หีบหมาก… จอกน้ำ ชามข้าว และเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ ด้วยเครื่องลงรักทั้งสิ้น…”จากการสำรวจพบว่า “เครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ” ที่ชาวล้านนานิยมทำด้วยเครื่องลงรัก ประกอบด้วย เอิบหรือหีบผ้าสำหรับใช้ใส่เสื้อผ้าหรือของใช้มีค่า ขันโตกสำหรับวางสำรับอาหาร ปุง ภาชนะใส่เมล็ดพืชสำหรับการเพาะปลูก มีลักษณะคล้ายกล่องข้าวเหนียว บุงหรือเปี้ยดสำหรับใส่ของหาบไปตลาด หรือบางครั้งเอาไว้ใส่ข้าวสาร โอหาบเป็นภาชนะที่มีหน้าที่เดียวกับบุง ซ้าปอมหรือซ้าป้อมเป็นของใช้ส่วนตัวที่ผู้หญิงมักเอาไว้ใส่เงินเหมือนจะเป็นกระเป๋าสตางค์ ส่วนใหญ่มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม จนอาจกล่าวได้ว่าซ้าปอมเป็นเครื่องลงรักชิ้นที่สวยงามที่สุดที่ใช้ถือออกสังคมได้

       และขออธิบายคำว่า “เครื่องเขิน” มีที่มาจากชื่อของแหล่งผลิตและช่างผู้ผลิตนั้นเนื่องมาจาก กลุ่มไทยเขิน ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านวัวลายและบ้านนันทาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตระกูลไทลื้ออาศัยอยู่ในเขตเมืองเชียงตุงอยู่บริเวณลุ่มน้ำเขิน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกลุ่มไทลื้อลุ่มน้ำเขินว่า ชาวไทเขิน มีหลักฐานว่าคนกลุ่มนี้โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่ ในกลุ่มชาวไทเขินที่อพยพมาอยู่เมืองเชียงใหม่ล้วนเป็นช่างฝีมือทั้งสิ้น มีความชำนาญในการทำเครื่องโลหะ งานทอผ้า งานกระดาษ งานจักสาน และเครื่องลงรัก วิธีการทำเครื่องลงรักในกลุ่มนี้นิยมใช้เทคนิคฮายลายหรือลายขุด ในช่วงหลังรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ในกลุ่มนี้นิยมทำเครื่องลงรักรูปแบบลายขุด ออกจำหน่ายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอย่างมาก เราจึงเรียกเครื่องลงรักทุกรูปแบบว่า “เครื่องเขิน” ตามชื่อกลุ่มชนผู้ผลิตนั้นเอง

  2. ประกาศเปิดทำการ

    Leave a Comment

    อศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยในระยะที่ 1 จะเปิดให้บริการระหว่าง วันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลา 8:30 ถึง 16:30 น. และปิดให้บริการในวันหยุดนักขัตฤกษ์ และเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด หรือ โควิด-19 หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่จึงขอความร่วมมือในการตรวจขัดกรองและปฎิบัติตามข้อกำหนดของภาครัฐอย่างเคร่งครัด 

  3. ‘ตึกแถว’ ในเชียงใหม่

    Leave a Comment

    ประวัติศาสตร์ ‘เมือง’ ผ่านสถาปัตยกรรม ‘ตึกแถว’ ในเชียงใหม่

    สถาปัตยกรรมตึกแถวในย่านพื้นที่เขตอนุรักษ์เมืองเก่าเชียงใหม่ไม่ใช่เพราะรูปแบบที่สวยงามแปลกตา แต่อาคารตึกแถวเหล่านี้ยังเป็นหลักฐานที่สามารถทำให้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ มิติของสังคม การเมือง และวัฒนธรรมนั้น สามารถศึกษาผ่านร่องรอยของการใช้พื้นที่ในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจากยุคเริ่มต้นเมื่อครั้งการค้าขายของเมืองเชียงใหม่ยังอยู่ในมือของพ่อค้าพม่าและไทใหญ่ ต่อมาเมื่อครั้งข้าราชการสยามเข้ามามีบทบาทกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่งผลให้กลุ่มชาวจีนค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทและอำนาจการดูแลเศรษฐกิจเชียงใหม่แทนพ่อค้ากลุ่มเดิม

    ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมตึกแถว พอจะสามารถแบ่งตามยุคออกได้ดังนี้
    • ยุคแรก ช่วงก่อน พ.ศ. 2440 เช่น อาคารพาณิชย์ที่หยิบยืมเอารูปแบบสถาปัตยกรรมจีน ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก เช่น ร้านเดอะแกลอรี่ บริเวณวัดเกตการาม หรือก่อนชาวจีนจะย้ายข้ามไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง

    • ยุคที่สอง ช่วงพ.ศ. 2440 – 2470 ยุคที่มิชชันนารีเข้ามามีบทบาทมากในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้นำเอาวิธีการก่อสร้างและรูปแบบการใช้พื้นที่ระเบียงขนาดใหญ่หน้าบ้าน (Porch) เข้ามาด้วย เช่น อาคารศรีประเสริฐที่ปรากฏบริเวณหัวมุมถนนวิชยานนท์ (ปัจจุบันคืออาคารสำนักงานของธนาคาร UOB) ช่วงปลายของยุคที่สองนี้มีปัจจัยสำคัญคือ การเข้ามาของรถไฟใน พ.ศ. 2464 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในยุคต่อมา

    • ยุคที่สาม ช่วงพ.ศ. 2470 – 2500 เป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบและเทคนิควิธีการก่อสร้าง ดังเช่นอาคารที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กต่าง ๆ การขนส่งวัสดุก่อสร้าง เหล็กเส้นต่าง ๆ เพื่อการก่อสร้างสามารถนำขึ้นมาโดยรถไฟเนื่องจากการคมนาคมขนส่งที่สะดวกมากขึ้น อาคารพาณิชย์ดังกล่าว เช่น ตึกขาว (พ.ศ. 2475) และอาคารอีกหลายหลังบนถนนท่าแพที่มีช่วงเสากว้างขึ้นและสูงขึ้น 

    • ยุคที่สี่ ช่วงพ.ศ. 2500 – 2520 เป็นยุคที่เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก รัฐบาลเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เกิดการตัดถนนเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์อย่างหนึ่งคือการเกิดขึ้นของตึกแถวที่ขยายตัวคู่ไปกับการตัดถนน และรูปแบบตึกแถวบนถนนที่สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือช่างที่ประณีตบรรจง และต้องการสร้างให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากตึกแถวที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่นอาคารพาณิชย์ที่ใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าหลังแผงกันแดดเป็นระเบียงเพื่อใช้สอย เช่นตากผ้า ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งพบเห็นได้มากในตึกแถวริมถนนเจริญเมือง หรือการใช้แผงกันแดดเป็นส่วนประดับตกแต่งรูปด้านอาคาร เช่น การใช้การหล่อคอนกรีตขึ้นรูปโค้ง เช่น อาคารของร้านเชียงใหม่ธาราภัณฑ์ บนถนนเจริญราษฎร์ หรือการใช้วัสดุประกอบอาคารอื่นๆ เช่นเหล็กดัดหรือผนังคอนกรีตสำเร็จรูป

    อ้างอิง:
    สันต์ สุวัจฉราภินันท์. (2559). ย้อนอ่านสถาปัตยกรรมตึกแถวในถนนท่าแพ : เส้นทางของความทันสมัยเมืองเชียงใหม่. หน้าจั่ว, (ฉบับที่ 13)

  4. ภาพงานวัดเด็ก มกราคม 2563

    Leave a Comment

    ภาพบรรยากาศของกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563 ที่ลานกิจกรรมพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา นอกจากสนุกสนานกับเกมส์กิจกรรมต่าง ๆ มากมายแล้ว เครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ยังมอบสิทธิพิเศษให้กับน้อง ๆ เข้าชมพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ทั้ง 3 แห่งฟรีอีกด้วย งานนี้นอกจากของรางวัลแล้วน้อง ๆ ยังได้ความรู้กลับบ้านไปอีกเพียบ! แล้วพบกันใหม่งานวันเด็กปีหน้านะ

  5. 100 ปี พิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่

    Leave a Comment

    นอกจากศูนย์กลางย่านเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่แล้ว ที่นี่ยังเป็น ‘พื้นที่กลาง’ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินได้ใช้พื้นที่ในการจัดแสดงนิทรรศการรวมถึงเป็นพื้นที่กลางทางความคิดของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนหน้าไปพร้อมกับการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ ที่นี่จึงเรียกได้ว่าเป็น ‘เครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่’ ที่รวบรวมและนำเสนอภูมิปัญญาความรู้เกี่ยวกับเมืองอย่างรอบด้าน และปัจจุบันยังเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเมืองเชียงใหม่

  6. ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม

    Leave a Comment

    ล้านนาเป็นดินแดนที่พบความหลากหลายของผ้าทอพื้นเมือง เนื่องด้วยกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์อยู่อาศัยในดินแดนนี้ การทอผ้าจึงเป็นวิถีชีวิตของหญิงชาวล้านนาโดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นตีนจก เพราะผ้าซิ่นตีนจกเป็นผ้าซิ่นแบบพิเศษที่ใช้กันอย่างทั่วไปของหญิงชาวไท-ยวน ในล้านนาหรือในบริเวณทางตอนเหนือของประเทศไทย

    ผ้าซิ่นตีนจกนอกจากจะเป็นผ้าซิ่นแบบพิเศษที่ใช้กันอย่างทั่วไปของหญิงชาวไทย-ยวนในล้านนาหรือทางภาคเหนือของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่โดยเฉพาะหญิงที่มีฐานะสูงศักดิ์มักนิยมผ้าซิ่นตีนจกที่มีการสอดแทรกเส้นโลหะที่มีค่าเช่น เส้นทองคำหรือเงิน, แล่ง หรือกระดาษทองพันกับฝ้าย หรือเส้นดิ้นทองหรือดิ้นเงินใส่ลงไปในบริเวณลวดลายที่อยู่บริเวณตีนซิ่น จึงทำให้ผ้าซิ่นตีนจกผืนนั้นดูมีคุณค่าและความพิเศษ รวมถึงราคาที่แตกต่างจากผ้าซิ่นตีนจกทั่วๆไปที่เหมาะแก่หญิงที่มีฐานะสูง ซึ่งผ้าซิ่นตีนจกคำส่วนมากมักจะใช้เฉพาะเจ้านายหญิงหรือหญิงที่มีฐานะสูงศักดิ์ที่ส่วนมากมักจะมีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณในตัวเวียงเชียงใหม่และใกล้เคียง มีการพบหลักฐานในภาพถ่ายโบราณว่าเจ้านายลำพูน เจ้านายลำปาง เจ้านายแพร่ ก็ล้วนสวมใส่ผ้าซิ่นตีนจกที่มีลักษณะประเภทดังที่กล่าวมาทั้งสิ้น

    นอกจากนี้ผ้าซิ่นตีนจกในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงยังมีลวดลายแบบพิเศษ มีความแตกต่างเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งลวดลายและสีสันในแต่ละกลุ่มย่อย อีกทั้งในแต่ละกลุ่มย่อยนั้นๆยังมีวิวัฒนาการในการสร้างสรรค์ลวดลายให้ดูแปลกแตกต่างในกลุ่มเดียวกัน การรังสรรค์ลวดลายที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ เกิดจากผู้ทอเป็นหลักที่ทำให้ตีนจกผืนนั้นมีลวดลายเฉพาะเพียงผืนเดียว หามีผืนอื่นๆที่จะมีรูปแบบลวดลายที่คล้ายคลึงกันได้ ตัวอย่างลวดลายที่พบเป็นส่วนมากเช่น การทอลวดลายกลับหัวลง เช่นลายหงส์ที่กลับหัวลงซึ่งเป็นลวดลายของสัตว์ชนิดเดียวที่ปรากฏบนตีนจก หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลวดลายหลักเช่น สี่เหลี่ยมเพชรให้กลายเป็นลวดลายสี่เหลี่ยมย่อยหรือทำให้เล็กลง

    นิทรรศการ “ผ้าซิ่นตีนจกในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง”
    งานสะสมของ รศ.กันต์ พูนพิพัฒน์
    จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
    เปิดบริการให้เข้าชมวันอังคาร – วันอาทิตย์
    เวลา 08.30 – 17.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
    ปิดทำการวันจันทร์

  7. ภูมิทัศน์เมืองเชียงใหม่ผ่านภาพถ่ายในอดีตและปัจจุบัน

    Leave a Comment

    ‘ภูมิทัศน์’ ที่คุ้นตาคนเชียงใหม่ในอดีตของภาพถ่ายชุดนี้แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการความเจริญของเมืองเชียงใหม่ ภาพเสน่ห์ของวิถีชีวิตผู้คนในตลาดยามเช้า แม่ค้าที่กาดหลวง คิวรถสามล้อถีบ และการคมนาคมขนส่งในอดีตที่มีรถสี่ล้อแดงอยู่น้อยคัน นอกจากนี้ภาพถ่ายชุดนี้ยังแสดงให้เห็นถึงสภาพภูมิทัศน์ในเขตเมืองของเชียงใหม่และสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนได้เป็นอย่างดี สะท้อนถึงการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะในย่านเมืองเก่า หากเคารพในคุณค่าของมรดกธรรมชาติและวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับภูมิทัศน์เมือง แต่ขาดแคลนซึ่งความเข้าใจในการอนุรักษ์มรดกดั้งเดิม ที่ไม่เพียงจะส่งผลให้ความงามจากสถาปัตยกรรมเก่าแก่สูญหายไปเท่านั้น หากวิถีชีวิตและองค์ความรู้เก่าก่อนก็พลอยจะเลือนหายไปด้วย เช่นนั้นแล้วการทำให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบการมีความเข้าใจในภูมิทัศน์เมืองประวัติศาสตร์ จะทำให้ผู้คนมองภาพของเมืองแบบเดียวกัน มองคุณค่าของเมืองในมุมเดียวกัน และมีจิตสำนึกร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองต่อไป เหล่านี้คือกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน

    อ้างอิง www.chiangmaiworldheritage.org

  8. วันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

    Leave a Comment

    น้อมรำลึก ๙ ธันวาคม ‘วันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี’

    ‘วันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี’ ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของเจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา กระนั้นบทบาทที่สำคัญของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ที่ยังคงมีหลักฐานประจักษ์ชัดและเป็นคุณูปการให้กับชาวเชียงใหม่และภาคเหนือจนถึงทุกวันนี้

    สำหรับชาวเชียงใหม่แล้วความรู้สึกที่มีต่อเจ้าดารารัศมีคือ เปรียบเป็นปูชนียบุคคลสำคัญของล้านนาและระลึกถึงพระองค์เสมอ โดยเฉพาะด้านการฟื้นฟูและส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม งานหัตถศิลป์ ด้านนาฏศิลป์ เกษตรกรรม ฯลฯ ท่านเป็นผู้นำในทุก ๆ เรื่อง พระองค์เป็นที่รักของชาวล้านนามากพอๆ กับที่ท่านรักและสิ่งที่พระองค์ทำให้กับบ้านเกิดของท่านตราบจนในวาระสุดท้ายของชีวิต

  9. ถัก สาน งานคราฟต์

    Leave a Comment

    สาขาวิชาศิลปะไทย ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญผู้ที่สนใจชมนิทรรศการโครงงาน “ถัก สาน งานคราฟต์” ระหว่างวันที่ 11 – 18 ธันวาคม 2562 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม ซึ่งมีโครงงานของนักศึกษา จำนวน 13 โครงงาน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในกระบวนวิชา 115301 นิทรรศการและการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม (Exhibition and Presentation of Art and Culture) เพื่อเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ในสาขาวิชาเพื่อให้นักศึกษามีโอกาสศึกษาแสวงหาความรู้ และประสบการณ์ในด้านการจัดการศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการจัดนิทรรศการและการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมจากการฝึกปฏิบัติงานภายนอกห้องเรียน

  10. นิทรรศการ Sanyi Wooden

    Leave a Comment

    หลากหลายผลงานออกแบบจากไม้ประเภทต่างๆ รวมถึงงานศิลปะแกะสลักไม้อันประณีตบรรจงของศิลปินชาวไต้หวัน ที่ไม่เพียงถ่ายทอดคุณค่าภูมิปัญญาเชิงช่างและวัฒนธรรมดั้งเดิมของไต้หวัน แต่ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ดีไซน์ร่วมสมัย ให้ทุกคนได้สัมผัสถึงความเป็นได้ใหม่ๆ ในการประยุกต์ใช้วัสดุไม้ในชีวิตประจำวันอย่างสร้างสรรค์

    จัดแสดงวันนี้ – 15 ธันวาคม 2562
    ในช่วงเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่
    (Chiang Mai Design Week) 2019
    สถานที่ ห้องนิทรรศการภายในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

  11. 5 ธันวาคม

    Leave a Comment

    วันที่ ๕ ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

    น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
    ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหารและพนักงาน
    เครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่

  12. เทศกาลออกแบบเชียงใหม่

    Leave a Comment

    กลับมาอีกครั้งกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) 2019 จัดขึ้นในวันที่ 7-15 ธันวาคม 2562 ในพื้นที่ย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ย่านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และกระจายไปทั่วเมืองเชียงใหม่

    โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Better City, Better Living นำเสนอศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ต่อยอดทักษะฝีมือช่างและทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน อีกทั้งยังตอกย้ำและขับเคลื่อนการเป็นเมืองแห่ง Craft and Folk Art ของเชียงใหม่ โดยนำเสนอนวัตกรรมงานออกแบบใหม่ๆ รวมทั้งผลงานความคิดสร้างสรรค์จากหลากหลายสาขาในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี การแสดง อาหาร ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการ นักออกแบบ ศิลปิน และช่างฝีมือให้สามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ยั่งยืน ทั้งนี้ มีนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ในเมืองเชียงใหม่และในประเทศมากกว่า 500 คน และจากต่างประเทศอีกกว่า 10 ประเทศ เข้าร่วมจัดเทศกาลเฉลิมฉลองวัฒนธรรมความสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการออกแบบ เชื่อมโยงเครือข่าย เจรจาธุรกิจ ตลอดจนขยายการสร้างประสบการณ์ร่วมและแรงบันดาลใจจากงานออกแบบไปสู่นักท่องเที่ยว เด็ก เยาวชน ชุมชน และประชาชนที่สนใจงานออกแบบ ด้วยกิจกรรมหลากหลายหัวข้อ หลากหลายรูปแบบที่กระตุ้นแรงบันดาลใจ ต่อยอดความคิด ถ่ายทอดประโยชน์ของงานออกแบบในการดำรงชีวิตสมัยใหม่ อีกทั้งยังขับเคลื่อนการเป็นเมืองสร้างสรรค์สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (UNESCO Creative City on Crafts and Folk Art) ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

  13. Urban Talk

    Leave a Comment

    “เมื่อได้ยินคำว่า disruption ความรู้สึกแรกของเราน่าจะเป็น ความกังวล ความหมายของคำนี้เป็นไปในด้านลบมากกว่าด้านบวก disruption เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่ง แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงที่สามารถทำให้สิ่งเดิม ๆ ที่มีอยู่บางสิ่งบางอย่างล้มหายตายจากไป”
    .
    แล้วเราจะทำยังไงในยุคสมัยที่มีแต่ disruption อยู่รอบตัว … รับฟังมุมมองจาก “อนุสรณ์ ติปยานนท์” ผู้ซึ่งมีคมคิดผ่านตัวหนังสือออกมาให้เราได้อ่านอยู่เสมอ ร่วมด้วย “กรรณิกา เพชรแก้ว” ที่มาด้วยความพร้อมเจาะลึกของนักข่าวมืออาชีพ
    .
    23 พฤศจิกายน 2562 13.30 น. ณ ห้องสมุดฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่ (ด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์)

  14. ไหว้ครูศิลป์

    Leave a Comment

    กลุ่มหน่อศิลป์ (Art Sprout) โดยการรวมตัวของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเรียนเชิญแขกผู้มีเกียรติ มิตรแก้วสหายคำ ภาคีเครือข่ายทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทุกศาสตร์ทุกแขนง ทุกท่าน ทุกหมู่เหล่า ร่วมเป็นเกียรติในงานยกขันตั้งไหว้ครูศิลป์ ‘อธิกบูชา วันทาคุรุ’ ประจำปี ๒๕๖๒

    ในงานพิธีอุ่นงันนันอวลด้วยบรรยากาศแบบล้านนา และการฟ้อนถวายมืออันวิจิตรตระการ เพื่อเป็นคุรุบูชา จากบรรดาศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ ตลอดจนเหล่าภาคีเครือข่ายพันธมิตรทางด้านศิลปวัฒนธรรมทุกคน

    วันเสาร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ แรม ๕ ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ)
    เวลา ๘.๓๐ – ๑๓.๐๐ น ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    (การแต่งกาย : ชุดพื้นเมือง )

  15. นิทรรศการศิลปะ ‘สมดุลยภาพแห่งชีวิต’

    Leave a Comment

    โดยศิลปิน สิรญาณ สายรุ้งธรรม จัดแสดงวันนี้ – 30 พฤศจิกายน 2562 สถานที่ห้องแกลลอรี่ ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เวลา 08.30 – 17.00 น. (หยุดวันจันทร์) ไม่เสียค่าเข้าชม